ชวนจับตา 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ 27 – 28 ก.ค. 61
ชม VDO คลิกที่ภาพ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนคนไทยชม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ จันทรุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ตั้งแต่ค่ำวันที่ 27 ถึงรุ่งเช้า 28 กรกฎาคม 2561 เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พร้อมเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ เชิญชวนดูดาวอังคารสุกสว่าง ดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ หวังกระตุ้นการเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนไทยจากประสบการณ์จริง
วันนี้(24 ก.ค.61) ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นคืนที่จะเกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าสนใจถึง 3 ปรากฏการณ์ ได้แก่
1) ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร เราจะมองเห็นดาวอังคารสีส้มแดงสุกสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน
2) จันทรุปราคาเต็มดวง ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 กรกฎาคม คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที เวลา 02.30 – 04.13 น. นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21
และ 3) ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 406,086 กิโลเมตร ในขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ยังตรงกับช่วงดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดังนั้นในคืนดังกล่าว เราจึงจะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงที่ดวงจันทร์มีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี และยังจะเห็น “ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง” อีกด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. กำหนดจัดกิจกรรม ในวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ถึงรุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2561 เวลา 04.30 น. เชิญชวนประชาชนส่องขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคาร ดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ อาทิ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ 1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (โทร 081-8854353) 2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (โทร 086-4291489) 3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (โทร 084-0882264) 4) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา (โทร 095-1450411) พร้อมร่วมกับเครือข่ายอีก 360 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมสังเกตการณ์ 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามในคืนดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนไทยเรียนรู้ดาราศาสตร์จากประสบการณ์จริง ทั้งนี้ ตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมดได้ที่ www.NARIT.or.th
นอกจากนี้ สดร. ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ตั้งแต่เวลา 00.14 น. เป็นต้นไปสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/NARITpage