ห้องอนุบาลมอนเตสซอรี่ (Montessori Classroom)

ห้องอนุบาลมอนเตสซอรี่ (Montessori Classroom)

Goals

เป้าหมายของอนุบาลมอนเตสซอรี่

  • สร้างความรู้สึกเป็นตัวเอง สร้างวินัย มีแรงจูงใจ มีสมาธิ มีความเพียร และมีความอ่อนไหวต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
  • พัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้
  • พัฒนาความรู้สึกมั่นใจในตนเอง
  • ปลุกความรู้สึกและจินตนาการ เด็กได้เรียนรู้วิธีสังเกต ตั้งคําถาม และสํารวจความคิดตามความต้องการของตนเอง

Learning Activities

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

     การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Education) เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่พัฒนาโดย ดร. มา เรีย มอนเตสซอรี่ (Dr. Maria Montessori) แพทย์และนักการศึกษาชาวอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษ 1900 พัฒนาและปรับปรุงวิธีการสอนจนเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในแถบยุโรปมาจนถึงปัจจุบัน

     การสอนแบบมอนเตสซอรี่เป็นการสอนที่นำความรู้ไปให้เด็ก โดยไม่ใช้วิธีการบอกให้อ่านหรือท่องจำ แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้และเติบโตไปตามธรรมชาติที่เขาเป็น ในห้องเรียนที่เปรียบเสมือนสังคมจริง โดยจะมีเด็กๆ ระดับอ.1-อ.3 อยู่ร่วมกัน เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ และเลือกกิจกรรมที่เขาสนใจเองได้ ผ่านสิ่งแวดล้อมที่ครูจัดให้อย่างมีเป้าหมาย ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และมือ โดยมีครูคอยให้คำแนะนำและสาธิตการใช้อุปกรณ์การเรียนในครั้งแรก จนเด็กเกิดความเข้าใจและคุ้นชิน จากนั้นเด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้สำรวจและเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เด็กรู้จักเข้าสังคมและเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่นด้วย หลักสูตรมอนเตสซอรี่ให้ประสบการณ์กับเด็กในด้านต่าง ๆ ดังนี้

Practical life

1. ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน

     ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (Practical life) เด็กจะได้รับโอกาศในการฝึกดูแลตัวเอง ดูแลสภาพแวดล้อม ดูแลผู้อื่น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เช็ดโต๊ะ ล้างจาน จัดอาหาร แต่งตัว เป็นต้น ซึ่งจะมีการสอดแทรกมารยาทในการเข้าสังคมเข้าไปด้วย เหล่านี้จะส่งผลดีต่อเด็กทั้งในแง่ของพัฒนาการ กล้ามเนื้อมือที่ต้องทำงานให้สัมพันธ์กับสายตา การเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกสมาธิ ความมุ่งมั่น และการมีระเบียบวินัยอีกด้วย

Sensorial

2. ด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5

     ด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensorial) เด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้ดีจากประสาทสัมผัสมากกว่าการคิดวิเคราะห์ด้วยสมอง ดังนั้นกิจกรรมด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะอาศัยอุปกรณ์ซึ่งแต่ละชิ้นถูกคิดค้นขึ้นมาโดยหลักวิทยาศาสตร์ที่จะให้เด็กได้บริหารสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่น และการรับรส

Mathematic

3. ด้านคณิตศาสตร์

     ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematic)เด็กที่ได้สัมผัสบทเรียนทางคณิตศาสตร์จะเข้าใจหลักการของตัวเลข โดยเริ่มต้นจากอุปกรณ์ที่เด็กสามารถหยิบจับได้จริง สิ่งนี้เองจะทำให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้จากประสาทสัมผัสที่เป็นรูปธรรมจนเกิดความเข้าใจที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดเพื่อเรียนพีชคณิตและเรขาคณิตได้ในอนาคต

Language

4. ด้านภาษา

     ด้านภาษา (Language) บทเรียนทางภาษาจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สัญลักษณ์ที่แตกต่างมาช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจองค์ประกอบของภาษาได้ เช่น ระบุเสียง แยกประเภทคำ จำการเรียงตัวของประโยค

Cultural studies

5. ด้านวัฒนธรรมศึกษา

     ด้านวัฒนธรรมศึกษา (Cultural studies) เด็กจะได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละชนชาติได้จากบทเรียนเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งมีความเข้มข้นและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์ทางการเรียนอย่างลูกโลกหรือจิ๊กซอว์ แผนที่

Art & Craft

6. ศิลปะและงานฝีมือ

     ศิลปะและงานฝีมือ (Art & Craft) ในด้านศิลปะและงานฝีมือ เด็กจะทำเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การเคลื่อนไหวมือ-ตาที่สัมพันธ์กัน และความสามารถทางการคิดเช่น คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา

โรงเรียน
ศรีวิทยา บางวัว

โรงเรียนศรีวิทยาได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน และได้สร้างผู้เรียนคุณภาพให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ติดต่อโรงเรียน

หมายเลขโทรศัพท์

038-538-555

© Sriwittaya All Rights Reserved.